หน้าเว็บ

ศิลปะจีน

ศิลปะจีนในประเทศไทย

     เมืองไทยเราเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และชาวจีนก็เริ่มเข้ามาตั้งรกรากลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า ในบางเรื่องเราแทบจะแยกความเป็นไทยกับจีนไม่ออกเนื่องจากวัฒนธรรมของทั้งสองชาติได้ผสมกลมกลืนกันมาเป็นเวลานานแล้ว เรื่องที่ว่านั้นก็รวมไปถึงเรื่องของศิลปะด้วย โดยศิลปะจีนนั้นได้แทรกตัวอยู่ร่วมกับศิลปะไทยได้อย่างลงตัวโดยเฉพาะตามวัดวาอารามหลายๆแห่ง

      ซึ่งเรามักจะได้พบเห็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะจีนในศาสนสถานที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะในช่วงนั้น เป็นช่วงที่การค้าของประเทศไทยกับประเทศจีนรุ่งเรืองที่สุด ถึงขนาดที่พระองค์ได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้าสัว” เนื่องจากความสามารถในการแต่งสำเภาไปค้าขาย และในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่มีชาวจีนอพยพเดินทางมาพร้อมกับเรือสำเภา เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนจีนเหล่านี้ต่อมาก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการช่าง การสร้างวัดต่างๆ มากมาย

     ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ศิลปะแบบจีนในวัดนั้นได้ชื่อว่าเป็น “พระราชนิยม” ซึ่งจะมีจุดเด่นตรงที่หลังคาของโบสถ์หรือวิหารในส่วนที่เป็นหน้าบันนั้นจะเป็นแบบเรียบๆ ตัดส่วนที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หรือที่เรียกว่าเครื่องบนออกทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่าชำรุดเสียหายได้ง่ายและเปลืองเวลาในการทำ แต่มีการประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลาย เช่น ดอกไม้ หรือสัตว์ต่างๆ ตามแบบจีน เช่นหงส์ หรือมังกรแทน

     การที่ศิลปะแบบจีนนั้นกลายมาเป็นพระราชนิยม ทำให้เหล่าขุนนาง รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาในยุคนั้นต่างก็นิยมสร้างวัดตามแบบพระราชนิยมเช่นเดียวกัน ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงมีวัดหลายแห่งด้วยกันที่มีลักษณะของศิลปะแบบจีนให้เราได้ชมกันอยู่เป็นจำนวนมาก

สถาปัตยกรรม
     ทางด้านงานสถาปัตยกรรมของจีนที่ปรากฏในไทยนั้น ได้เริ่มมีมาแต่ช้านานและได้ผสมผสานเข้ากับสถาปัตยกรรมไทยออกมาได้อย่างสวยงามและลงตัว ซึ่งก็คือวัด วัดที่ปรากฏในเรื่องของสถาปัตยกรรมของจีนที่มีในไทย มีตัวอย่างดังต่อไปนี้ คือ








วัดราชโอรสาราม วัดประจำรัชกาลที่ 3

     หากจะกล่าวถึงวัดไทยที่มีศิลปะแบบจีนอยู่เต็มรูปแบบมากที่สุด และสวยงามที่สุด ก็คงจะต้องกล่าวถึงวัดราชโอรสารามราชวรมหาวิหาร หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า วัดราชโอรส ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก รวมทั้งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 ซึ่งใครที่ได้เข้าไปชมภายในวัดราชโอรสาราม อาจจะเผลอนึกไปได้ว่ากำลังเดินอยู่ในวัดจีน
     
     วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดจอมทอง เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 3 ยังมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ 2 นั้น ท่านได้ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลเตรียมไปรบกับพม่า และได้มาประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองนี้ ท่านได้ทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม และทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมา และเมื่อทรงเลิกทัพเสด็จกลับพระนครแล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวงแด่รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นผู้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส" เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชโอรสซึ่งเป็นผู้บูรณะ

     วัดแห่งนี้จึงมีศิลปะแบบจีนอยู่แทบทุกตารางนิ้วตามพระราชนิยมของผู้บูรณะ ตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าวัด ที่มีหลังคาสี่ชั้นแบบจีนเด่นชัด ส่วนพระอุโบสถของวัดราชโอรสนี้มีหลังคาแบบจีนสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องแบบไทย ไม่มีเครื่องบน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายแจกันดอกเบญจมาศ มีสัตว์ที่เป็นมงคลตามความเชื่อของชาวจีนอย่างมังกร หงส์ นกยูงอยู่รอบๆ แจกัน

    นอกจากหน้าบันแล้ว บริเวณหน้าประตูทางเข้าอุโบสถยังมีตุ๊กตากระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่กว่าคนจริงเป็นรูปชาวจีนหน้าตาดุดันยืนเฝ้าประตูอยู่ดูน่าเกรงขาม ส่วนบนบานประตูโบสถ์เป็นภาพประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆที่ถือว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทยและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ส่วนภายนอกพระอุโบสถก็ยังมีศาลาราย วิหารคด ถะ (เจดีย์จีน) ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนเห็นได้ชัด ตั้งอยู่เคียงกับพระปรางค์ และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบไทยได้อย่างไม่ขัดเขิน




วัดกัลยาณมิตร กับหลวงพ่อซำปอกง

     วัดกัลยาณมิตรเป็นอีกวัดหนึ่งที่ขุนนางสร้างขึ้น ซึ่งขุนนางท่านนี้ก็คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ หรือ โต กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นทั้งข้าราชบริพารและพระสหายของรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยานิกรบดินทร์สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีความสามารถในการเดินเรือ และได้ช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าในการแต่งเรือสำเภาไปค้าขายจนแผ่นดินร่ำรวย

     ที่ดินของวัดนี้ เป็นที่ดินที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์อุทิศให้เพื่อสร้างวัด และได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านก็ได้พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร รวมทั้งได้ทรงสร้างวิหารหลวงและพระประธานในวิหารหลวง ซึ่งก็คือหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง ในสมัยอยุธยา หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างอย่างมากในหมู่ชาวจีน ท่านยังมีชื่อเรียกแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกงอีกด้วย

     วัดแห่งนี้มีวิหารเป็นแบบศิลปะไทย และมีพระประธานซึ่งเป็นที่เคารพของชาวจีน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นลวดลายดอกไม้แบบจีน รวมทั้งมีเสี้ยวกางอยู่บนประตูวิหารอีกด้วย ส่วนด้านหน้าวิหารมีซุ้มประตูหิน และเสาหินแบบจีน ซึ่งเป็นที่สำหรับจุดธูปเทียนบูชา และสำหรับพระอุโบสถ มีลักษณะแบบศิลปะจีน มีหลังคาและหน้าบันตามแบบพระราชนิยม ส่วนภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

     บริเวณวัดกัลยาณมิตรจะมีตุ๊กตาหินรวมทั้งเจดีย์หินแบบจีน หรือที่เรียกว่า ถะ ซึ่งเป็นศิลปะจีนที่งดงามมาก หากใครได้ผ่านไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงจะได้เห็นถะ ตั้งเด่นอยู่ริมน้ำเบื้องหน้าวิหารหลวงพ่อโต เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวัดกัลยาณมิตรไปแล้ว





วัดเทพธิดาราม 

     วัดเทพธิดารามนี้เป็นหนึ่งในสามวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยคำว่าเทพธิดาในชื่อวัดก็หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์โตที่เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา โดยกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็ได้บริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมก่อสร้างวัดด้วย

    เมื่อเป็นวัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างแล้ว ก็แน่นอนว่าย่อมต้องมีศิลปะแบบจีนให้เห็นแน่นอน ซึ่งพระอุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญที่ตั้งเรียงกันอยู่นั้น ล้วนแล้วแต่มีลักษณะหลังคาและหน้าบันเหมือนกันทั้งหมด คือไม่มีเครื่องบน และประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายแบบจีน
     ที่วัดเทพธิดารามนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะจีน นั่นก็คือ ตุ๊กตาหิน ซึ่งมีทั้งรูปคนและรูปสัตว์ และที่น่าสนใจก็คือตุ๊กตาหินในวัดนี้ส่วนมากเป็นรูปผู้หญิง คงเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อวัดซึ่งสร้างให้กับเจ้านายผู้หญิง ช่างที่สลักตุ๊กตานั้นเป็นช่างชาวจีน ซึ่งเมื่อมาแกะสลักตุ๊กตาที่เลียนแบบลักษณะท่าทางและการแต่งกายของสตรีชาวไทยตามสายตาของช่างชาวจีนก็ทำให้ตุ๊กตาเหล่านี้มีลักษณะแปลกตาน่าชม เช่น อาจจะดูเป็นคนไทยที่มีหน้าตาออกไปทางเชื้อสายจีนมากสักหน่อย ต่างจากตุ๊กตาหินของวัดอื่นๆ ที่จะเป็นรูปคนจีนทั้งหมด



หมู่บ้านมังกรสวรรค์ สุพรรณบุรี

         หมู่บ้านมังกรสวรรค์สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งใหม่ตั้งอยู่ภายในอุทยานมังกรสวรรค์ (ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) และพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร รูปแบบของหมู่บ้านได้จำลอง "เมืองลีเจียง" ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่โบราณ และมีรูปแบบที่สวยงามจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมืองมรดกโลก ตั้งอยู่ในสาธาราณรัฐประชาชนจีน

     ภายในหมู่บ้านที่ออกแบบได้สวยงามลงตัว เหมือนหนึ่งได้เดินเข้าไปในหมู่บ้านโบราณของเมืองจีน ซึ่งแต่ละหลังก็เป็นสถานที่ที่ให้บริการต่างกันออกไป มีร้านขายสินค้า และของที่ระลึก (ร้านสำเพ็ง) โรงหนัง โรงนวด โรงเตี๊ยม ร้านอาหาร ปฎิมากรรมที่งดงามอย่างเสามังกรฟ้า จากเมืองฉงอู่ สาธาราณรัฐประชาชนจีน และยังขึ้นไปชมวิวได้ 360 องศา บนหอคอยชมวิว ที่จะได้เห็นทิวทัศน์โดยรอบของอุทยานมังกรสวรรค์


ประติมากรรม
      ประติมากรรมจีนที่มีอยู่ในไทย ส่วนใหญ่จะปรากฏคู่ไปกับสถาปัตยกรรม เช่นตุ๊กตาหิน รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม หรือตุ๊กตาเทพเจ้าต่างๆของจีน ซึ่งเป็นงานประติมากรรมแบบลอยตัว



ตุ๊กตาอับเฉา วัดราชโอรสาราม



ตุ๊กตาหิน วัดเทพธิดาราม





เจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากหินแกรนิตขาว สุราษฎร์ธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น