หน้าเว็บ

ศิลปะอีสาน ลำดับที่ 1


สิมอีสาน

      สิมอีสาน หรือ โบสถ์อีสาน มาจากการที่ทางอีสานเรียกโบสถ์ว่า “สิม” ลักษณะโดยทั่วไปของสิม แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักตามสภาพของแหล่งที่ตั้ง คือ สิมน้ำและสิมบก สิมน้ำ เป็นสิมที่ตั้งอยู่กลางน้ำ เช่น สระ หนอง บึง ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างอย่างชั่วคราวสำหรับวัดที่ยังไม่มีวิสุงคามสีมา ส่วนใหญ่สิมบกเป็นสิมที่ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีลักษณะเป็นอาคารถาวร นอกจากนี้ สิมยังแบ่งตามลำดับอายุก่อนหลังและลักษณะร่วมในรูปแบบได้เป็น 4 ประเภท คือ สิมก่อผนังแบบดั้งเดิม สิมโถง สิมก่อผนังรุ่นหลัง และสิมแบบผสม 


     สิม มาจากคำว่า สีมา สิมมา หรือพัทธสีมา ที่ปรากฏในคำจารึกบนแผ่นหินที่ประกาศเจตนาอุทิศของผู้สร้างปักไว้ด้านหลังสิมมีปรากฏอยู่ทั่วไป ความหมายของคำเหล่านี้ หมายถึง เขตแดนที่กำหนดในการประชุมทำสังฆกรรมอันเป็นกิจของสงฆ์โดยมีแผ่นสีมาหินเป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตรอบบริเวณตัวสิม 

     สิมอีสานมีขนาดและรูปลักษณ์แตกต่างจากโบสถ์ภาคกลางอย่างเด่นชัด สะท้อนให้เห็นถึงคติการดำรงชีวิตที่สงบ เรียบง่าย พึ่งพึงธรรมชาติ ก่อนอื่นคงต้องลบภาพอุโบสถทรงสูงชะลูดมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นเครื่องประกอบหลังคาอย่างที่เห็นชินตาในแถบภาคกลางออกเสียก่อน แล้วเริ่มต้นนึกภาพใหม่ เป็นอาคารขนาดเล็กก่อด้วยอิฐ บ้างสร้างด้วยไม้ บ้างหลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด บ้างก็มุงด้วยหญ้าตามแต่จะหาได้ สมัยนี้เห็นมุงด้วยสังกะสีก็หลายแห่ง 



สิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น


สิมวัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น


     เอกลักษณ์เด่นของสิมที่แปลกไปจากภาคอื่น ๆ อีกอย่าง คือ ภาพจิตรกรรม ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า “ฮูปแต้ม” ปกติจะเห็นว่าเขียนไว้ที่ผนังด้านในของพระอุโบสถ แต่แถบภาคอีสานตอนบนนิยมเขียนทั้งด้านในและด้านนอก ซึ่งมีเหตุผลอธิบายได้อย่างเข้าที คือ สิมมีขนาดเล็กมาก เนื่องจากทำขึ้นเพียงเพื่อให้พระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมเท่านั้น 


ภายนอกรอบสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

     ญาติโยม โดยเฉพาะผู้หญิง ต้องนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ด้านนอก ดังนั้นหากเขียนภาพแต่ด้านใน ก็คงจะขัดเกลาจิตใจให้เห็นธรรมได้เฉพาะเพียงพระเท่านั้น จึงเกิดความคิดเขียนภาพด้านนอก เพื่อฉลองศรัทธาญาติโยมที่มาฟังธรรมที่วัด ให้ได้มีโอกาสชื่นชมกับจิตรกรรมที่แฝงคติธรรมและเรื่องราวสนุกสนานตามประสาชาวบ้านไปด้วย

    ภายในนิยมเขียนภาพพุทธประวัติ และเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก ส่วนภายนอกสำหรับอุบาสก อุบาสิกาชมนั้น นิยมนำนิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชิงรักหักสวาท การผจญภัยของตัวละครเอกมาแสดงภาพโดยสอดแทรกคติธรรม “การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และบรรยายภาพการถูกลงโทษในนรกไว้ให้น่ากลัว


ภายในสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

     ยกตัวอย่าง เช่น วัดสนวนวารีฯ มีชื่อเต็มว่า วัดสนวนวารีพัฒนาราม เดิมชื่อ วัดฉนวน เพราะมีต้นฉนวนอยู่ภายในวัด เมื่อเวลาผ่านไปจึงเพี้ยนจาก “ฉนวน” มาเป็น “สนวน” วัดนี้สร้างราว พ.ศ. 2465 โดยการบริจาคตามกำลังศรัทธาของชาวบ้าน รวบรวมได้สองร้อยบาท มีช่างญวนเป็นช่างใหญ่และเป็นช่างแต้ม ส่วนสิมนั้นสร้างหลังจากสร้างวัดสองปี 

     สิมวัดสนวนวารีฯ เป็นอาคารก่ออิฐขนาดสามห้อง กว้างประมาณ 5.30 เมตร ยาวประมาณ 7 เมตร มีทางเข้าด้านหน้าด้านเดียวคือทางทิศตะวันออก ผนังด้านข้างเจาะวงโค้งแบบนิยมของญวนแทนการใส่บานหน้าต่าง ฮูปแต้มด้านนอกเขียนไว้เหนือแนววงโค้ง เริ่มจากผนังด้านทิศใต้ต่อเรื่อยไปทางตะวันตก ทิศเหนือ จนสุดผนังด้านทิศตะวันออก แต่ยังไม่จบเรื่อง ช่างก็กระโดดไปต่อเรื่องจนจบที่ผนังด้านหลัง (ตะวันตก) เนื่องจากเป็นด้านเดียวที่พอมีพื้นที่เหลือภายในอุโบสถ (สิม) 

     ส่วนฮูปแต้มด้านในก็คล้ายกัน คือเริ่มจากผนังด้านทิศเหนือต่อเรื่อยไปทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกจนสุดผนัง ยังไม่จบเรื่อง กระโดดไปต่อจนจบที่ผนังด้านหลัง (ตะวันตก) ที่เห็นอย่างนี้อย่าคิดว่าผิดแบบธรรมเนียมแต่อย่างใด เพราะสิมที่มี 

ฮูปแต้มของอีสานเกือบทุกแห่งเป็นอย่างนี้ 

    ช่างเขียนภาพไป บางทีนึกขึ้นได้ว่าลืมตอนสำคัญ ก็มองหาที่ว่าง จะแทรกตรงไหนได้บ้าง ดังนั้นผู้ที่จะดูภาพเข้าใจ ก็ต้องมีพื้นความรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านอีสานไว้บ้าง เพราะนอกจากบางครั้งจะไม่วาดตามลำดับเรื่องราวแล้ว บางทียังแปลงเรื่องใหม่สุดแท้แต่ความนิยม และความรู้ของช่าง สร้างสรรค์กันได้อย่างอิสระ ไม่มีกรอบหรือแบบแผนที่ต้องเคร่งครัดเหมือนงานช่างหลวง เรื่องราวฮูปแต้มวัดสนวนวารีฯ จัดว่าไม่ซับซ้อนสับสนมากนักเมื่อเทียบกับหลายวัด ช่างแต้มรองสีพื้นภาพด้วยสีขาว เขียนภาพด้วยสีฝุ่นโทนเย็นเด่นที่สีคราม เหลือง และเขียว ตัวคนส่วนใหญ่จะเขียนให้เห็นด้านข้าง สัดส่วนใหญ่บ้างเล็กบ้างไม่คงที่ ถ้าดูดีดีจะเห็นต้นไม้ล้มระเนระนาด บ้างไม่รู้อาจคิดว่าเป็นการแสดงให้เห็นบุญบารมีของตัวเอกในท้องเรื่องที่เดินป่าแล้วต้นไม้ล้ม แต่จริง ๆ คือ ช่างต้องการสื่อให้เห็นต้นไม้สองข้างทาง แต่เนื่องจากไม่รู้จักการวาดภาพแบบ perspective จึงออกมาอย่างที่เห็น คือ ด้านหนึ่งตั้งขึ้น ต้นไม้อีกด้านชี้ลง กลายเป็นเสน่ห์ไปอีกแบบ



วีดีโอเพิ่มเติมสำหรับคนที่ชอบฟังชอบดูนะคะ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น