หน้าเว็บ

งานจิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์

งานจิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์

 
     สมัยรัตนโกสินทร์เป็นจิตรกรรมที่เขียนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2325 ลงมาจนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบการเขียนตามแบบไทยแนวประเพณี และแบบร่วมสมัย โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นจิตรกรรมไทยที่มีคุณค่าทางความงามมาก มักใช้สีตัดเส้น และปิดทองลงบนภาพ ภาพเขียนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 1 มีอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วัดระฆังโฆสิตาราม วัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงอุปถัมภ์ช่างศิลป์ ส่งผลให้มีการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมขึ้นอย่างแพร่หลาย ผลงานอันโดดเด่น ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ริมคลองบางกอกน้อย ซึ่งได้เป็นแม่แบบให้ศิลปินรุ่นหลังใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและสร้างสรรค์งานมาจนถึงทุกวันนี้



จิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการปิดทองลงในภาพ



งานจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ



จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม (วัดทอง)



     จิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น แต่หลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาอิทธิพลตะวันตกได้ทำให้รูปแบบจิตรกรรมไทยมีความร่วมสมัยกับนานาชาติอย่างชัดเจน กล่าวคือ มีการนำเทคนิคการเขียนภาพให้มีมิติตามแบบอย่างตะวันตก เช่น จิตรกรรมของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ขรัว อินโข่งเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้นำแนวทางการวาดภาพแบบตะวันตกที่แสดงทัศนียภาพในระยะใกล้-ไกล และแสดงให้เห็นแสงเงา มาประยุกต์ใช้กับผลงานของตน ในปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังแม้จะเป็นภาพวาดที่มีลักษณะของความเป็นไทยแต่ก็มีการผสมผสานคตินิยม เทคนิค รูปแบบสมัยใหม่จากตะวันตก เช่น ผลงานของปรีชา เถาทอง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นต้น


จิตรกรรมของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร


จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม



ภาพจิตรกรรม ผลงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ


     ปัจจุบัน ภาพจิตรกรรมมิได้จำกัดจะมีอยู่แค่ในเฉพาะวัดกับวังเหมือนเมื่อครั้งอดีต แต่มีการนำไปประดับตกแต่งอาคารสถานที่ ใช้ในการสื่อสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างแพร่หลายผ่านทางสื่อต่างๆ และภาพที่วาดเนื้อหา และแนวคิดก็ขยายวงกว้าง นอกจากภาพเกี่ยวกับศาสนาและเอกลักษณ์ไทยแล้ว ก็ยังมีการเสนอภาพที่มีแนวคิดสะท้อนสังคม หรือมีเรื่องราวที่ศิลปินมีความประทับใจ เช่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม บุคคล สถานที่ จินตนาการภาพนามธรรม (Abstract) และอื่นๆ อีกด้วย ตลอดจนเทคนิคในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมก็มีความหลากหลายกว่าเดิม และนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการนำเสนอผลงานด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น