หน้าเว็บ

ศิลปะอีสาน ลำดับที่ 2



จิตรกรรม “ฮูปแต้ม” บนสิมอีสาน

     "ฮูปแต้ม" เป็นภาษาอีสานที่มีความหมายว่า ภาพเขียน ในภาษาไทยก็คือภาพจิตรกรรม โดยที่ ฮูป ก็คือ รูป และ แต้ม ก็คือ การ วาดแต่งเติม นั่นเอง 
     ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์ วิหาร เป็นงานจิตรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคอีสานหรือที่เรียกว่า “ฮูปแต้ม” มีปรากฏอยู่ที่สิม (โบสถ์) วิหารหอไตร และหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ฮูปแต้มที่พบกันเป็นส่วนมากทางภาคอีสานมักจะเขียนอยู่บนผนังด้านนอกของสิมหรือโบสถ์ 
     รูปแบบและกรรมวิธีการจัดองค์ประกอบศิลป์ในฮูปแต้มอีสานไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ผู้สร้างสรรค์ เรียกว่า "ช่างแต้ม" ช่างแต้มมีอิสระเสรีในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ช่างแต้มคนเดียวกันหากได้ไปเขียนภาพ ณ สถานที่ที่ต่างกันรูปลักษณ์ขององค์ประกอบศิลป์รวมทั้งรายละเอียดก็จะแตกต่างกันออกไป ช่างแต้มจะเลือกสรรเรื่องราวจากพุทธประวัติหรือจากวรรณกรรมพื้นบ้านเฉพาะส่วนหรือตอนที่ช่างแต้มประทับใจนำมาพรรณนาด้วย เส้นสี และองค์ประกอบภาพที่ต่อเนื่องกันไป จากภาพหนึ่งเชื่อมต่อกับอีกภาพหนึ่งเพื่อสื่อสารความคิดให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ มองเห็นความงามทางสุนทรียศาสตร์และคุณค่าทางคุณธรรมที่แฝงอยู่ในปฐมธาตุทัศนศิลป์ เนื้อหาของภาพแต่ละตอนจะจบลงในตัวของมันเอง

     องค์ประกอบภาพส่วนรวมในฮูปแต้มอีสานคล้ายกับการแสดงหนังตะลุง ผืนผนังภายในและภาพภายนอกของสิมคือ จอหนัง ตัวละครที่กำลังแสดงอิริยาบถต่างๆ ตามท้องเรื่อง คือตัวหนังตะลุงที่ช่างแต้มนำมาประดับบนผืนผนัง จากตอนหนึ่งเชื่อมต่อกับอีกตอนหนึ่ง ใกล้ๆกับเนื้อเรื่อง แต่ละตอนจะมีคำบรรยายภาพด้วยตัวอักษรกำกับไว้ด้วย ช่างแต้มจะใช้เส้นแถบเป็นสิ่งแทนการคั่นเนื้อเรื่องแต่ละตอนหรือไม่ก็ปล่อยช่องว่างรอบองค์ประกอบภาพ เพื่อมิให้เกิดความสับสนระหว่างเนื้อหาแต่ละตอน ช่องว่างจะเกิดคุณค่าคล้ายกับที่พักสายตาคล้ายกับการเว้นวรรคของประโยค หรือการขึ้นบรรทัดใหม่ของคอลัมน์ในการเขียนหนังสือ พื้นผนังหรือฉากหลังไม่มีการรองพื้นด้วยสีหนัก จะรองพื้นด้วยสีขาวล้วนหรือขาวนวล ช่างแต้มจะร่างรูปทรงของตัวละครต่างๆลงบนผืนผนังสีขาวนั้น มีการลงสีตกแต่งเครื่องประดับตัดเส้นลงรายละเอียดในแง่มุมบางส่วนเฉพาะส่วนที่เป็นรูปทรงของตัวละคร 
จุดเด่นขององค์ประกอบภาพจึงอยู่ที่ตัวละคร บรรยากาศของภาพก็ดูสว่างสดใส ฮูปแต้มลักษณะเช่นนี้พบมากในบริเวณแถบจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม อันเป็นจังหวัดในกลุ่มอีสานกลาง สิมบางหลังช่างแต้มจะระบายสีบางๆมีน้ำหนักอ่อนๆ บริเวณใกล้เคียงกับตัวภาพหรือตัวละคร ทำให้เกิดความเด่นชัดมากขึ้น มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ เกิดความรู้สึกนุ่มนวลมากกว่าที่เป็นสีขาวโดดๆ ดังเช่นงานจิตรกรรมฝาผนังจากวัดพุทธสิมา บ้านฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม หรือวัดโพธิ์คำ บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม


ฮูปแต้มบนสิม วัดพุทธสิมา บ้านฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม
หรือวัดโพธิ์คำ บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม



ฮูปแต้มบนสิม วัดพุทธสิมา บ้านฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม
หรือวัดโพธิ์คำ บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

     กรรมวิธีการเขียนภาพบนพื้นผนังสิม ที่ใช้สีขาวนวลเป็นสีพื้นเช่นนี้เป็นเทคนิค ที่ใช้ในศิลปกรรมสมัยอยุธยา ที่มีชื่อเสียงและมีลักษณะเด่นมากก็คือ ภาพเขียนที่ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทธไธยสวรรย์ อำเภอเมือง จังหวัดอยุธยา ภาพเขียนจากวัดเกาะแก้วสุทธาราม อำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี และวัดช่องนนทรี เขตยานาวา กรุงเทพฯ หรือเป็นแนวเดียวกับการเขียนภาพในสมุดข่อยซึ่งต่างไปจากการเขียนภาพในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มักจะรองพื้นฉากหลังด้วยสีคล้ำเข้มในเบื้องแรก แล้วจึงเขียนภาพตัวละครซ้อนทับลงไป ทำให้ภาพของตัวละครลอยเด่นออกมาจากฉากหลังเกิดน้ำหนัก(Value) อ่อนแก่ชัดเจน เทคนิคลักษณะนี้เหมาะสมกับอาคารที่มีฝาผนังกว้างขวาง มีหน้าต่างพอให้แสงสว่างเข้ามาได้มากกว่าอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแทบจะไม่มีหน้าต่างที่ให้แสงผ่านเข้ามาภายในตัวอาคารได้สะดวก ช่างแต้มอีสานได้ตระหนักถึงเหตุผลที่ว่าต้องพยายามสร้างบรรยากาศภายในตัวอาคารให้เกิดความสว่างให้มากที่สุด โดยให้พื้นผนังมีสีขาวนวล แล้วเขียนภาพตัวละครซ้อนทับลงไป

สีที่ช่างแต้มชาวอีสานใช้เป็นสีธรรมชาติ และมีสีเคมี 
สีธรรมชาติได้แก่
     สีคราม จากต้นคราม
     สีเหลือง จากยางต้นรง
     สีแดง, สีน้ำตาลแดง จากดินแดงประสานกับยางบง
     สีเขียว เป็นสีผสมระหว่าง สีครามและสีเหลือง
     สีดำ จาก เขม่าไฟนำมาบดป่นให้ละเอียดหรือหมึกแท่งจากจีน
สีเคมี ได้แก่ สีบรรจุซองตราสตางค์แดง
ตัวเชื่อมหรือตัวประสาน ระหว่างสีกับผนัง ช่างแต้มจะใช้ยางบง หรือยางมะตูมผสมน้ำ แล้วนำมาผสมกับสีฝุ่นที่บดละเอียดแล้ว บางครั้งก็ใช้ไขสัตว์ ส่วนพู่กัน ใช้รากดอกเกด(ดอกลำเจียก) ทุบปลาย

ช่างแต้ม

       ช่างแต้มในงานฮูปแต้มอีสานเป็นทั้งฆราวาสและพระภิกษุผู้ซึ่งใช้ชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับธรรมชาติในสังคมชนบท
       ช่างแต้มมีความเชื่อว่าจะเป็นบุญกุศลหากได้ถ่ายทอดคุณธรรมที่แฝงอยู่ในพุทธประวัติและวรรณกรรมพื้นบ้านอันเป็นที่นิยมของชาวบ้านไว้ในฮูปแต้ม
       ฮูปแต้มจึงเปรียบเทียบได้กับสื่ออันสำคัญที่จะเป็นตัวเชื่อมโยง โน้มน้าวจิตใจผู้คนที่พบเห็นเกิดอารมณ์ความรู้สึก เกิดรสของความสนุกสนาน และเข้าถึงสาระแห่คุณธรรมที่อ่านได้จากเส้นละสี
ช่างแต้มมีความเข้าใจในคุณลักษณะของความงามที่เกิดจากความเรียบง่ายอันเป็นคุณสมบัติของศิลปะพื้นบ้าน ทั้งนี้อาจจะเกิดจากมูลเหตุและข้อจำกัดบางประการ ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์และความชำนาญที่ต้องสร้างสมด้วยตนเอง ซึ่งมีผลให้เกิดเป็นรูปแบบฮูปแต้มอีสาน
     ประการที่ 1 พื้นที่ที่ใช้ในการแต้มภาพมีขนาดย่อมทำให้เกิดมุมมองภาพที่จำกัด ซึ่งสืบเนื่องมาจากขนาดของสิมที่มีขนาดเล็ก
     ประการที่ 2 วัสดุอุปกรณ์ซึ่งประกอบไปด้วย สี ตัวประสาน พู่กัน ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นสิ่งที่ได้มาจากการเสาะแสวงหามาด้วยตนเอง และเป็นวัสดุพื้นบ้านที่ได้มาจากธรรมชาติ
     ประการที่ 3 เทคนิควิธีการ ช่างแต้มส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดกันในหมู่เครือญาติจากพ่อมายังลูก ลุงมายังหลาน เป็นต้น
     ประการที่ 4 ช่างแต้มสิมหลังหนึ่งๆ มีจำนวนหลายคน มักจะมีช่างแต้มผู้มีฝีมือเพียงคนเดียวเป็นหัวหน้างาน นอกนั้นเป็นลูกมือ ดังนั้นภาพแต้มจังมีฝีมือไม่สม่ำเสมอกันทุกผนัง สิมหลังหนึ่งอาจมีภาพเด่นเพียง 2 ด้านหรือด้านเดียวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ฮูปแต้มที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ฮูปแต้มที่วัดสระบัวแก้ว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น
      ช่างแต้มจึงเปรียบได้กับสื่ออันสำคัญที่จะเป็นตัวเชื่อมโยง โน้มน้าวจิตใจผู้คนที่พบเห็นเกิดอารมณ์ความรู้สึก เกิดรสของความสนุกสนาน และเข้าถึงสาระแห่งคุณธรรมที่อ่านได้จากเส้นและสี ช่างแต้มมีความเข้าใจในคุณลักษณะของความงามที่เกิดจากความเรียบง่ายอันเป็นคุณสมบัติของศิลปะพื้นบ้าน ทั้งนี้อาจจะเกิดจากมูลเหตุและข้อจำกัดบางประการ ประกอบด้วยวัสดุอุปกรณ์และความชำนาญที่ต้องสร้างสมด้วยตนเองซึ่งมีผลให้เกิดเป็นรูปแบบฮูปแต้มอีสาน

     ช่างแต้มในงานฮูปแต้มอีสาน อาจจำแนกตามลักษณะงานออกได้เป็น 3 กลุ่ม
     กลุ่มที่ 1 กลุ่มช่างพื้นบ้านแท้ๆ
     กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ได้อิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ
     กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมผสมล้านช้าง-กรุงเทพฯ


กลุ่มช่างพื้นบ้านแท้ๆ
        คือช่างที่ถ่ายทอดและฝึกฝนกันอยู่ในท้องถิ่น ลักษณะงานจึงเป็นศิลปะพื้นบ้านแท้ๆ กลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด

ฮูปแต้มวัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น


กลุ่มที่ได้อิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ
     คือช่างที่เคยไปกรุงเทพฯ อาจเป็นช่างหลวงหรือที่ได้รับการฝึกฝนจากช่างหลวง ลักษณะภาพจึงเป็นลักษณะคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม ผสมผสานกับเนื้อหาสาระและเทคนิควิธีการของพื้นบ้านกลุ่มนี้ได้แก่ ช่างแต้มผู้วาดภาพวัดหน้าพระธาตุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

ฮูปแต้มวัดหน้าพระธาตุ จังหวัดนครราชสีมา


กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมผสมล้านช้าง-กรุงเทพฯ
     กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นช่างแถบลุ่มน้ำโขง มีพระครูวิโรจน์รัตโนบลเป็นช่างใหญ่ของกลุ่มนี้ ลักษณะภาพของกลุ่มนี้บางภาพได้รับอิทธิพลจากวัฒนะธรรมหลวงกรุงเทพฯ เช่นภาพจับเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดหัวเวียงรังษี อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม (สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของหลวงชายอักษร) ภาพพุทธประวัติในสิมวัดโพธิ์คำ บ้านน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ฝีมือนายลี) แต่หลายๆภาพก็แสดงลักษณะวัฒนธรรมล้านช่าง เช่น ฮูปแต้มที่วิหารวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี (ฝีมือยาครูช่างเวียงจันท์) ฮูปแต้มที่วิหารวัดโพธิ์ชัยนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ช่างแต้มกลุ่มนี้จึงเป็นช่างแต้มท้องถิ่นที่สืบทอดวัฒนธรรมเดิมของตน ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้รับถ่ายทอดลักษณะการเขียนภาพแบบอย่างของกรุงเทพฯเอาไว้ด้วย ช่างแต้มกลุ่มนี้นอกจากจะฝากฝีมือไว้ตามสิมแถบฝั่งฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำโขงแล้ว บางคนก็ยังข้ามไปวาดภาพไว้ตามผนังสิมที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีกด้วย

ฮูปแต้มวัดหัวเวียงรังษี อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม


     ส่วนฮูปแต้มในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ที่โด่งดังจนนำไปทำเป็นสัญลักษณ์ในการจัดกิจกรรมหลายๆครั้ง เป็นเนื้อเรื่องของสินไซ นั่นคือสังข์ศิลป์ชัยเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของประเทศลาวและถิ่นอีสาน ที่มีคุณค่าทางศาสนา เนื้อเรื่องของสังข์ศิลป์ชัยจึงถูกถ่ายทอดลงบนฝาผนังของโบสถ์ในแถบภาคอีสาน โดยจังหวัดที่พบ สิมอีสานเนื้อเรื่องสังข์ศิลป์ชัยส่วนใหญ่อยู่ที่ จังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม แต่ในจังหวัด ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธรอุบลราชธานีและนครราชสีมา ยังคงเป็นเรื่องราวตามความเชื่อ คำสอน คติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนานั่นเอง


    ภาพฮูปแต้มบนสิมวัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
     


เนื้อเรื่อง "สังข์ศิลป์ชัย" หรือ "สังสินไซ"

      ณ นครเปงจาล พระยากุศราช เป็นเจ้าเมือง มีน้องสาวรูปงามชื่อนางสุมุณฑา วันหนึ่งนางไปชมสวน มียักษ์กุมภัณฑ์มาอุ้มเอานางไปยังเมืองอโนราช แล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี พระยากุศราชเสียใจมาก จึงออกบวชติดตามไปถึงเมืองจำปา และได้พบธิดาทั้ง 7 ของนันทะเศรษฐี จึงสึกและขอนางเป็นมเหสี พระยากุศราชเรียกมเหสีทั้ง 7 มา ให้ทุกนางตั้งจิตอธิษฐานขอเอาลูกชายผู้มีบุญฤทธิ์มาเกิด เพื่อจะได้ติดตามเอานางสุมุณฑากลับคืนมา พระอินทร์ได้ส่งเทพ 3 องค์มาเกิดในท้องนางทั้งสอง องค์หนึ่งเกิดเป็นสีโห (หัวเป็นช้าง) เกิดในท้องขเมียชื่อจันทา องค์สองศิลป์ชัย (เป็นคน) และสังข์ทอง (หอยสังข์) เกิดในท้องเมียชื่อลุน เมียหกคนได้คนธรรมดาสามัญมาเกิด โหรหลวงได้ทำนายว่าลูกที่เกิดจากเมียน้อยและเมียหลวงจะเป็นผู้มีบุญ คำทำนายของโหร ไม่เป็นที่พอใจของมเหสีทั้งหก มเหสีทั้งหกจึงว่าจ้างให้โหรทำนายใหม่ โหรเห็นแก่อามิสสินจ้างจึงทำนายใหม่ว่าลูกที่เกิดจากมเหสีทั้ง ๖ มีฤทธิ์เดชมาก ลูกที่เกิดจากนางจันทาและนางลุน เป็นทั้งคนทั้งสัตว์ เกิดมาอาภัพอัปปรีย์และจัญไร เมื่อประสูติ พระยากุศราชจึงขับไล่นางจันทา นางลุน พร้อมพระโอรสออกจากเมือง พระอินทร์เล็งเห็นความทุกข์ยาก จึงมาเนรมิตเมืองไว้ต้อนรับให้ได้อยู่อาศัย ยังเมืองนครศิลป์แห่งนี้ พระยากุศราชเมื่อขับไล่เมียแล้วให้โอรสทั้งหกไปตามเอาน้องสาวของตนคืนจากยักษ์กุมภัณฑ์ โอรสทั้งหกหลงทางมายังเมืองนครศิลป์ และได้โกหกศิลป์ชัย ให้ส่งสัตว์ป่าเข้าเมืองด้วยเพื่อเป็นพยานว่าพวกของตนได้พบกับศิลป์ชัยแล้ว เมื่อถึงเมืองโอรสทั้งหกก็โอ้อวดกับบิดาว่า พวกเขามีอำนาจเรียกสัตว์ทุกชนิดเข้าเมืองได้ ทุกคนก็หลงเชื่อว่าโอรสทั้งหกมีอำนาจ เมื่อบิดาสั่งให้โอรสทั้งหกติดตามหาอา พวกเขาก็มาโกหกศิลป์ชัยว่าบิดาสั่งให้ศิลป์ชัยไปตามหาอา ถ้าได้อาคืน ความผิดที่แล้วมาพ่อจะยกโทษให้ ศิลป์ชัยและน้องไปถึงด่านงูซวง กุมารทั้งหกไม่กล้าเดินทางต่อไป ให้สังข์ทองกับศิลป์ชัยเดินทางต่อไปรบกับยักษ์ฆ่ายักษ์ตาย เอาอาคืนมาได้ เมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ กุมารทั้งหกผลักศิลป์ชัยตกเหว และบอกอาว่าศิลป์ชัยตกน้ำตาย อาไม่เชื่อจึงเอาผ้าสะใบ ปิ่นเกล้าและช้องผมเสี่ยงทายไว้ เมื่อกลับมาถึงเมือง พระยากุศราชได้จัดงานต้อนรับ และทราบความจริงว่ากุมารทั้งหกเป็นคนโกหกมาโดยตลอดจึงถูกลงโทษขังคุกพร้อมมารดาของตน พระยากุศราชพร้อมน้องสาวเชิญเอานางจันทาและนางลุน พร้อมศิลป์ชัย สีโหและสังข์ทองเข้ามาในเมือง อภิเษกศิลป์ชัยให้เป็นเจ้าเมืองเปงจาล ต่อมาศิลป์ชัยได้ปล่อยให้คนทั้งหมดออกจากคุก ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์นั้น พระยาเวสสุวัณได้ชุบชีวิตคืนชีพขึ้นมา คิดถึงนางสุมุณฑาผู้เป็นมเหสี จึงไปสู่ขอนางจากศิลป์ชัย และทั้งสองอยู่เป็นสุขตราบสิ้นอายุ

ภาพฮูปแต้มตอนสินไซเดินดง  ณ สิมวัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น


วีดีโอเพิ่มเติมสำหรับคนชอบฟังนะคะ



นิทานสังข์สินไซ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น